ในทุกๆ เทรดต้องคุ้มค่าการลงทุน ในทุกการลงทุนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด นั่นก็คือ ก่อนลงทุนจะต้องศึกษาก่อนเสมอ ต้องมีความรู้ จะซื้อแค่หุ้นตัวเดียวก็ต้องศึกษาก่อนเสมอ ซื้อตราสารหนี้ตัวไหนก็ต้องมีความรู้ในตราสารตัวนั้น ลงทุนอะไรก็ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น รู้น้อยรู้มาก ย่อมมีผลต่อความเสี่ยง กำไรจากการลงทุนใดๆ จะเดินไปในทิศทางเดียวกับความรู้ในการลงทุนใดๆ
ขอนำบทความของ ป้าสุ ใน taladhoon.com มานำเสนอ เพราะให้ข้อคิดและแนวคิดที่ดีมากเรื่องหนึ่ง เนื้อหาว่า เส้นทางชีวิตสายการงานของ “สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด นั้น มีจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายการลงทุนอย่างแท้จริง โดยเขาเริ่มต้นเป็น Trainee ที่ซิตี้ แบงก์แล้วก็เริ่มต้นชีวิตเป็นผู้จัดการกองทุนตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา ในปี 1990 เขาก็ขึ้นมาเป็นหัวหน้าดูแลการบริหารเงินในส่วนของ Citibank Private Bank ทั้งหมด นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ที่สร้างผู้จัดการกองทุนรุ่นหลังๆ มาป้อนตลาดอุตสาหกรรมกองทุนรวมอีกด้วย
แม้สมเกียรติ จะก้าวออกมาทำธุรกิจส่วนตัวตั้งแต่ปี 1999 ธุรกิจที่ทำก็ยังคงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงซึ่งตัวเองมีความเชี่ยวชาญอยู่นั่นเอง โดยบริษัทของเขาเป็นผู้ผลิตโปรแกรมสำเร็จรูป BONANZA ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบงานนี้บริหารเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งเหนือคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติ
ทุกครั้งที่มีการแข่งซอฟต์แวร์ทางด้านการเงินบริษัทของเขาจะได้ที่ 1 ทุกครั้ง โดยรางวัลสูงสุดที่บริษัทได้รับเป็นรางวัลชนะเลิศ “เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ในปี 2548 ซึ่งเหมือนกับรางวัลโนเบลของประเทศไทย ตั้งแต่ตั้งมายังไม่เคยมีใครได้รางวัลนี้ นี่เป็นบริษัทแรกที่ได้รางวัล เป็นการันตีถึงศักยภาพของบริษัทได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะได้มามีโอกาสมาเปิดมุมมองในเรื่องการออมการลงทุนส่วนตัวของเขากัน
สมเกียรติ ยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนที่ถนัดเรื่องหุ้นชอบลงทุนในหุ้นเพราะโตมาจากสายแบงก์ เริ่มเป็นผู้จัดการกองทุนมาตั้งแต่ 21 ปีที่แล้ว ดูการลงทุนทั้งในส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ พออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกว่ามีตราสารอีกตั้งหลายอย่างที่น่าลงทุน โดยเฉพาะ “ศิลปวัตถุ” ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ,เหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ,พระพุทธรูป ,เครื่องเบญจรงค์ หรือเซรามิคจีน ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่หากเลือกลงทุนได้ถูกต้องแล้ว สามารถที่จะเพิ่มค่าได้และอาจจะเพิ่มค่าได้เร็วกว่าหุ้นและเร็วกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอีกหลายๆ อย่างด้วยซ้ำไป
สมมติว่าเราเอาเงินไปฝากแบงก์ เราจะได้สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สวยๆ มาเล่มหนึ่ง ได้ผลตอบแทน 4-5% เราก็ดีใจแล้ว แต่ถ้าเราไปซื้อศิลปวัตถุพวกนี้ หลายๆ อย่างสามารถนำมาโชว์ได้ด้วย แล้วเขาก็เพิ่มมูลค่าเร็วกว่าเงินฝากอยู่ดี ถ้าซื้อได้ถูกต้อง แล้ววันไหนจำเป็นต้องใช้เราก็อาจจะปล่อยก็ได้ แต่ก็เหมือนกับเอาเงินฝาก วันหนึ่งเราจำเป็นต้องใช้เราก็ไปถอนเงินออกมาก็คล้ายๆ กัน แต่ตรงนี้เรายังมีความสุขด้วย เรายังมีความสุขกับของสวยๆ งามๆ ด้วย
“ชามใบแรกเริ่มซื้อในปี 1990 ชามนั้นเราเรียกว่า “ชามกุหลาบน้ำทอง” โดยส่วนตัวผมจะชอบพวกชามสีหวานๆ เรียกว่ากุหลาบน้ำทองเป็นของไทย จะออกสีชมพูหวานๆ เป็นทอง พวกพื้นดำก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ตอนนั้นรู้สึกว่าชามบ้าอะไรแพงจังเลย พอซื้อเสร็จแล้วแฟนบอกว่าระวังเจ้าของจะมาทวงคืนตอนกลางคืนนะ เอาไว้ในห้องนอน แฟนก็กลัวอีก ชามใบแรกที่ซื้อทั้งรู้สึกว่าแพงและรู้สึกว่ากลัวด้วย หลังๆ เราก็เริ่มชิน”
อย่างศิลปวัตถุของจีนที่เรียกว่า “Blue and White” ชุด “คาเมา” ชุดนี้ อายุประมาณ 200-300 ปี เมื่อ 2 ปีก่อน ผมซื้อ 50,000 บาท ตอนนี้ราคามัน 50,000 ยูโร เพิ่มขึ้น 40 กว่าเท่า ในเวลาเพียง 2 ปี มันแล้วแต่ว่าเราไปเจอทรัพย์สินประเภทไหนเข้า ส่วนชุดพวกนี้เรียกว่า “วังเทา” ซึ่งจริงๆ แล้วชุดวังเทาจะดังกว่าคาเมาอีก พวกนี้อีกหน่อยน่าจะกำไรกว่าชุดคาเมา พวกศิลปวัตถุพวกนี้ท้ายสุดผมคิดว่าเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่น่าจะให้ผลตอบแทนดีสุด หรือไม่ก็หุ้นที่กำไรดีสุดถ้าเลือกหุ้นได้ถูกต้อง หรือไม่ก็ที่ดินผืนงามๆ หรืออะไรที่ดีตั้งแต่ต้น ทุกตัวทำกำไรได้เยอะไปหมด
สมเกียรติ บอกว่า ตอนเด็กๆ เราจะเริ่มลงทุนในเงินฝาก พอเราเก่งขึ้นมานิดหนึ่งเราจะเริ่มดูหุ้น พอเก่งขึ้นมาอีกเราจะเทรดตราสารหนี้เป็น แล้วตราสารอนุพันธ์ก็จะยากขึ้นไปอีก พอถึงจุดหนึ่งถ้าเรารู้ถึงศิลปวัตถุพวกนี้ก็สามารถปรับเรื่องการลงทุนมาใช้ได้หมด ศิลปวัตถุวิธีการลงทุนเหมือนกับการลงทุนทุกอย่างเพราะเป็นการเดาภาวะเศรษฐกิจก่อน
อย่างหุ้นเราก็เดาภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เศรษฐกิจประเทศไหนจะดี เราก็ซื้อหุ้นประเทศนั้น วิธีการจะเหมือนกัน ศิลปวัตถุถ้าเกิดเราดูว่าประเทศไหนในโลกอีกหน่อยจะเป็นประเทศที่รวย มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ แล้วเศรษฐีพวกนั้นมาจากคนที่ไม่เคยมีสตางค์แล้ววันหนึ่งเป็นเศรษฐี สิ่งที่เขาจะทำก็คือ เขาจะซื้อของเก่าเข้ามาในบ้าน
“อย่างเมื่อไม่นานนี้ผมขายเหล้าเก่าเฮนเนสซี่ไปชุดหนึ่งของคุณพ่อได้ 670,000 บาท พวกเฮนเนสซี่เก่าๆ มีราคาขึ้นมาเร็ว ขนาดยิ่งพร่องๆ เหลือน้อยๆ ยิ่งขายได้ราคา ส่วนใหญ่เขาซื้อไปกินแล้วก็ซื้อไปโชว์ด้วย ทุกการลงทุนเหมือนกันหมด คือ ต้องมีความรู้ อย่างจะซื้อหุ้นตัวไหนต้องมีความรู้ ซื้อตราสารหนี้ตัวไหนก็ต้องมีความรู้ อย่างเช่าพระพุทธรูปองค์นี้มาอายุ 100 กว่าปี เป็นพระพุทธเจ้าปางมารชมพูหรือเราเรียกว่าปางห้ามญาติเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระพุทธเจ้าทรงเครื่อง ผมว่าการลงทุนจริงๆ มันมีหลายอย่าง แต่ทุกอย่างเราต้องรู้จริงประเด็นอยู่ตรงนั้น”
ส่วนตัวสมเกียรติ เชื่อว่า ถ้าเลือกหุ้นเก่งก็รวยได้ เลือกที่ดินของประเทศนั้นเก่งก็รวยได้ เลือกศิลปวัตถุเก่งก็รวยได้ แล้วตัวที่กำไรสุดคือ ตัวไหน ตัวที่กำไรที่สุดก็น่าจะเป็นตัวที่สภาพคล่องน้อยที่สุด แต่มันก็เสี่ยงสุด ศิลปวัตถุถือว่าสภาพคล่องน้อยสุด แล้วก็เสี่ยงด้วย ถ้ามันตกแตกก็คือ หมดเลย มันจะไม่เหมือนที่ดิน ถ้าอย่างนั้นแล้วพรีเมียมมันจะได้ดีที่สุด อัตราผลตอบแทนมันจะดีสุด เพราะมันเสี่ยงกับการขาดสภาพคล่องและเสี่ยงกับการที่จะต้องแตกหรืออะไรก็แล้วแต่ คนก็เลยให้พรีเมียมมันสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงความเสี่ยงจากการที่จะไปเจอของปลอมที่ไม่ใช่ของแท้ด้วย เพราะตอนนี้เขาเก่งมากเรื่องทำของปลอม เพราะฉะนั้นเหมือนกันเลยทุกอย่างต้องมีความรู้ รู้ในการที่จะเลือกหุ้น รู้ในการที่จะเลือกของเก่าต้องมีความรู้ ต้องศึกษา ท้ายสุดแล้วมันจะเป็นทรัพย์สินอีกแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดีสุด
“ถ้าถามว่าผมถนัดเรื่องไหน ผมถนัดเรื่องหุ้น ปัจจุบันก็ยังมีการลงทุนในหุ้นซึ่งถือเป็นพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่จะลงทุนโดยตรงแต่ก็มีผ่านกองทุนรวมด้วย แน่นอนศิลปวัตถุไม่มีเทคนิเคิลให้ดู ไม่มีอัตราส่วนต่างๆ ให้ดู แต่ผมพอรู้ว่าราคาตลาดมันเท่าไร ทุกครั้งที่ผมซื้อผมซื้อถูกกว่าราคาตลาดค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นผมยังไงก็ไม่เจ็บตัว อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นหลายชิ้นที่ซื้อเราซื้อที่นี่ ถ้าชิ้นแบบเดียวกันที่เมืองนอกเท่าไร เรารู้ เพราะอย่างน้อยเรารู้ว่าเราซื้อถูกกว่าหลายเท่า เราก็ซื้อ”
แม้สมเกียรติจะยอมรับว่าตัวเขาเองเป็นคนที่ชอบความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่มีเหตุผลเท่านั้น